|
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
เศรษฐกิจของสิงคโปร์ ขนาดเศรษฐกิจของสิงคโปร์วัดจากมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Products : GDP) ปี 2549 ประมาณ 1.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน รองจากอินโดนีเซียและไทย แต่สิงคโปร์มีจำนวนประชากรน้อยที่สุดในภูมิภาคเพียง 4.5 ล้านคน ทำให้รายได้เฉลี่ยของประชากรวัดจาก GDP ต่อหัวสูงถึง 29,474 ดอลลาร์สหรัฐฯ สูงกว่าไทยเกือบ 10 เท่า ภาคบริการมีความสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ โดยมีบทบาทใน GDP ถึงร้อยละ 63.8 ภาคบริการที่สำคัญ เช่น ค้าส่ง ค้าปลีก การขนส่ง ภัตตาคารและโรงแรม การเงินการธนาคาร เป็นต้น รองลงมา ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 26 ที่เหลือเป็นภาคอื่นๆ อาทิ ก่อสร้าง เกษตรกรรม และประมง ร้อยละ 10.2 สิงคโปร์มีโครงข่ายเส้นทางคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพ สิงคโปร์นับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการขนส่งทางน้ำระหว่างประเทศมากที่สุดในโลก เป็นผู้นำด้านการต่อและซ่อมแซมเรือ ขณะที่สนามบินชางฮีของสิงคโปร์ (Changi Airport) ได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในศูนย์กลางการบินสำคัญในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังเป็นศูนย์กลางด้านการเงินแห่งหนึ่งของโลก การค้าเงินในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศของสิงคโปร์มีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากลอนดอน นิวยอร์ก และโตเกียว ปัจจุบันบริษัทธุรกิจข้ามชาติต่างๆ ไม่น้อยกว่า 7,000 แห่ง มีสำนักงานที่สิงคโปร์ World Economic Forum (WEF) ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับชั้นนำของโลก ได้จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จำนวน 102 ประเทศ ด้วยวิธี Growth Competitiveness Index (GCI) ซึ่งเป็นการประเมินโอกาสของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะปานกลางและระยะยาว โดยพิจารณาจากระดับเทคโนโลยีของประเทศ ประสิทธิภาพขององค์กรรัฐ รวมถึงปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และ Business Competitiveness Index (BCI) ซึ่งเป็นการประเมินศักยภาพทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยพิจารณาจากโครงสร้างองค์กรธุรกิจและปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจในประเทศ พบว่าทั้ง GCI และ BCI ของสิงคโปร์ ในปี 2550 สูงสุดในเอเชีย โดย GCI ของสิงคโปร์ อยู่ในอันดับที่ 7 และ BCI อยู่ในอันดับที่ 9 สูงกว่าญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 10 ของทั้งโลก ภาวะเศรษฐกิจสิงคโปร์ปี 2550 และแนวโน้มปี 2551 สถิติของ Singapore Department of Statistics ระบุว่าเศรษฐกิจของสิงคโปร์ไตรมาส 3/2550 วัดจาก GDP (Gross Domestic Products) ขยายตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยเฉพาะในสาขาบริการทางการเงิน การก่อสร้าง และภาคการผลิต ที่ขยายตัวในระดับเลข 2 หลัก ส่งผลให้เศรษฐกิจไตรมาส 3 ขยายตัวถึงร้อยละ 8.9 โดยภาคการผลิต การเงิน และการค้า มีส่วนสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (Contribution to GDP Growth) กว่าครึ่งหนึ่ง เมื่อเฉลี่ย 3 ไตรมาส เศรษฐกิจจึงขยายตัวร้อยละ 8.1 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนไตรมาส 4 ประมาณว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 6.0 ส่งผลให้ทั้งปีเศรษฐกิจสิงคโปร์ขยายตัวเฉลี่ยประมาณร้อยละ 7.5 โดยภาคการก่อสร้างขยายตัวถึงร้อยละ 19.8 ภาคบริการ ร้อยละ 8.1 โดยเฉพาะสาขาการเงินที่ขยายตัวสูงมาก ส่วนภาคการผลิตขยายตัวร้อยละ 5.6 ลดลงจากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 11.5 ปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจคือ อุปสงค์ต่างประเทศ โดยแม้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะชะลอลง แต่เศรษฐกิจยุโรป และเอเชีย โดยเฉพาะจีน ยังขยายตัวดี สำหรับแนวโน้มปี 2551 ด้วยเหตุที่เศรษฐกิจต่างประเทศส่งสัญญาณชะลอลงเนื่องจากหลายปัจจัย เช่น ปัญหาวิกฤติในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ให้แก่ผู้กู้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำของสหรัฐฯ (Subprime Mortgage Loan) ที่คาดว่าจะส่งผล กระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ และเศรษฐกิจในวงกว้าง รวมถึงผู้ที่ลงทุนในตลาดนี้ ขณะที่ยุโรปและเอเชียกำลังเผชิญปัญหาค่าเงินที่แข็งขึ้นมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เศรษฐกิจเอเชียยังมีแนวโน้มดี โดยเฉพาะจีน ที่คาดว่าจะขยายตัวสูงในระดับเลข 2 หลักต่อไป ทำให้ Ministry of Trade and Investment คาดว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์จะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.5-6.5 ในปี 2551 โดยมีสมมติฐาน 2 กรณีคือ ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับมาขยายตัวดีขึ้นในครึ่งหลังของปี 2551 ก็คาดว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์น่าจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 5.5-6.5 แต่ถ้าปัญหา Subprime รุนแรงขึ้นและราคาน้ำมันยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เศรษฐกิจสิงคโปร์ขยายตัวเพียงร้อยละ 4.5-5.5 ขณะที่ Economist Intelligence Unit คาดว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์จะขยายตัวประมาณ ร้อยละ 4.8 ในปี 2551 ด้านอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2550 และ 2551 คาดว่าจะสูงขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย คือ ประมาณร้อยละ 1.1-1.2 จากการสูงขึ้นของราคาอาหารสำเร็จรูปและรถยนต์ ประกอบกับราคาน้ำมันยังคงเพิ่มขึ้น ขณะที่การเพิ่มอัตราภาษีสินค้าและบริการจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 7 ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2550 เป็นต้นไป มีผลต่อราคาสินค้าไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม Economist Intelligence Unit คาดว่าอัตราเงินเฟ้อปี 2551 จะสูงถึงร้อยละ 2.4 อนึ่ง The Economist Intelligence Unit ได้คาดการณ์เศรษฐกิจสิงคโปร์ในระยะ 5 ปีข้างหน้า (ปี 2551-55) ว่าจะขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.7 ต่อปี โดยอุปสงค์ภายในประเทศยังคงขยายตัวสูงทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าทุน ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุล แม้จะมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากค่าเงินที่แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ |
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ทัวร์สิงคโปร์ มาเลเซีย 4 วัน 3 คืน : สิงคโปร์ยูนิเวอร์แซล เมอร์ไลอ้อน เก็นติ้ง มาเลเซีย กัวลาลัมเปอร์
กำหนดการเดินทาง
|
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
|